Docchula Community

บทความ วิชา สปช. : modernisation without development วิเคราะห์ลากยาวทางประวัติศาสตร์

จากยศช้างขุนนางพระ ถึงยศพระขุนนางพ่อค้า : การเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมในรัชกาลพระภูมิพล

ศรีศักร วัลลิโภดม

หมายเหตุ : บทความดังกล่าวนี้ นำมาจากเว็บไซต์ มูลนิธิ เล็ก-ประไพ ซึ่งเป็นบทความของ อาจารย์ ศรีศักร  วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาชื่อดังของเมืองไทย ที่เขียนตอบคำถามวาทกรรมโดยมีการอธิบายคำว่า  "อำมาตย์-ไพร่" ไว้เผยแพร่ให้ผู้อ่านได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของ สองคำนี้ ได้อย่างแท้จริง
 
 
 
 
“ตัวตน” และ “ชนชั้น” ในสังคมไทย

แก่นแท้ของวัฒนธรรมนั้นก็คือเรื่องของความคิด หรือถ้าจะพูดให้กระชับขึ้นก็คือความคิดและวิธีคิดของกลุ่มชนที่อยู่รวมกันเป็นสังคม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแสดงออกร่วมกันทางพฤติกรรมที่เป็นรูปแบบ ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม

สิ่งที่เป็นรูปแบบทางรูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ในขณะที่สิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหยุดนิ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากและช้า ความล่าช้าดังกล่าวนี้อาจเป็นสาเหตุให้สังคมที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ล้าหลังทางวัฒนธรรม” ก็ว่าได้

ในโลกปัจจุบัน บรรดาประเทศโลกที่สามซึ่งแต่ก่อนนี้เรียกกันว่าประเทศด้อยพัฒนาบ้าง หรือกำลังพัฒนาบ้างนั้น นับเป็นกลุ่มประเทศที่ประสบกับภาวะการล้าหลังทางวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากไม่อาจปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางจิตใจให้เข้ากับความเจริญทางวัตถุที่ได้อิทธิพลมาจากภายนอกได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่า ประเทศโลกที่สามจำนวนมากเหล่านั้นเป็นสังคมแบบประเพณีที่มีความเจริญเป็นอาณาจักรและมีอารยธรรมมาช้านาน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยประเทศหนึ่ง

สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของความคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “ค่านิยม” อันเป็นสิ่งที่คนในสังคมคิดและมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มักเป็นสิ่งที่เกิดจากการสังสรรค์และการถ่ายทอดกันมาช้านานของผู้คนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมาก โดยเฉพาะในสังคมแบบประเพณีที่มีความเก่าแก่ เคยมีอารยธรรมมานั้น ดูจะยากกว่าสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มากทีเดียว

ความขัดแย้งเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าประเทศที่เคยมีอารยธรรมเก่าแก่เช่นประเทศไทย อาจนับเป็นประเทศโลกที่สามกับเขาได้

การที่มาถูกกล่าวหา หรือถูกกำหนดให้เป็นประเทศโลกที่สาม หรือประเทศด้อยพัฒนาดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่บุคคลในสังคมนั้นเป็นอย่างมาก เลยทำให้มีการพัฒนาบ้านเมืองกันอย่างมากมาย เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าตนนั้นไม่ด้อยพัฒนา

ทว่า การพัฒนาดังกล่าวนั้นมักเป็นเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นทางด้านวัตถุเสียมาก ผลที่ตามมาก็คือกลับยิ่งไปขยายช่องว่างระหว่างความเจริญทางวัตถุและค่านิยมซึ่งเป็นเรื่องของความคิดจิตใจมากกว่าแต่เดิม

จนเกิดคำกล่าวให้ได้ยินยอมบ่อยๆ ว่า “modernization without development” คือ ความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา นับเป็นความขัดแย้งระหว่างภาวะทางวัตถุกับทางจิตใจนั่นเอง

เมื่อเข้ากันไม่ได้ การปรับตัวให้ทันสมัยก็ไม่เกิดผล จึงดำรงอยู่ในภาวะความล้าหลังเมื่อ
เปรียบเทียบกับสังคมอื่นที่เขาปรับตัวเองได้

ผลของความล้าหลังที่เกิดขึ้นก็คือช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น ระหว่างรัฐกับเอกชนจะเห็นว่าเกิดความเจริญเติบโตทางองค์กรธุรกิจเอกชนอย่างมากมาย ที่สามารถเปรียบได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในระบบราชการและองค์กรของรัฐยังอยู่ในสภาพล้าหลังที่ควบคุมและสร้างดุลยภาพระหว่างกันไม่ได้ เท่ากับไม่สามารถรักษาบทบาทหน้าที่ของรัฐในการควบคุมขององค์กรทางธุรกิจไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์จากสังคมถ่ายเดียวไม่ได้ ทำให้คนในสังคมเอารัดเอาเปรียบกัน คือคนที่มีการศึกษาดีกว่า ฉลาดกว่า ก็กลายเป็นผู้ฉวยโอกาสจากคนด้อยโอกาสที่มีเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คนถูกมองเป็นทรัพยากร เรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์” มีค่าเท่ากับทรัพยากรธรรมชาติและอื่นๆ ในกรอบความคิดที่เป็นเศรษฐกิจไป

ผลที่ตามมาก็คือ ทั้งคนและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งของทางเศรษฐกิจถูกทำลายอย่างย่อยยับ ดังที่แลเห็นภาพการล่มสลายของครอบครัวและชุมชน ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างในทุกวันนี้

สิ่งที่โดดเด่นอันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยขณะนี้ก็คือ การเกิดชนชั้นกลุ่มใหม่ที่เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากชนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้า ซึ่งอาศัยช่องว่าทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ชนกลุ่มนี้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในด้านเศรษฐกิจและการเมือง บางคนกลายเป็นสมาชิกของบริษัทข้ามชาติที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกานุวัตรไปก็มี

ดังนั้น สิ่งที่เห็นในสังคมไทยยุคใหม่ที่สำคัญก็คือ ความมั่งคั่งกับอำนาจกลายเป็นสิ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก และผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจก็คือผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองและการปกครองโดยปริยาย

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นนี้ ถ้ามองอย่างเผินๆ แล้ว ก็จะเห็นว่าประเทศไทยและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นไปในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ถ้าหากนับวัฒนธรรมรวมเข้าไปด้วยแล้ว ก็บอกได้แต่เพียงว่า วัฒนธรรมบางส่วนบางเรื่องเท่านั้นที่เปลี่ยน แต่สิ่งที่ค่านิยมที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเช่นที่แลเห็นได้ในปัจจุบัน

ค่านิยมสำคัญที่ว่านี้มีสองอย่าง คือ ความเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาหินยานหรือเถรวาทกับ ความยากมีตัวตนและชนชั้น  ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระบบขุนนาง หรือระบบศักดินาที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ค่านิยมทั้งสองอย่างนี้มีตัวตนอยู่ในระบบค่านิยมและโครงสร้างทางวัฒนธรรมของสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในที่นี้จะวิเคราะห์เพียงค่านิยมอย่างที่สอง คือเรื่องความมีตัวตนและชนชั้นเท่านั้น

ขอกล่าวแต่เพียงคร่าวๆ ว่า ความเป็นปัจเจกบุคคลที่ได้รับมาจากพุทธศาสนา สอนให้คนเป็นที่พึ่งแห่งตน และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองนั้น เข้ากันได้ดีกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีในปัจจุบัน ส่วนค่านิยมในเรื่องความมีตัวตนและชนชั้นนั้น ถ้ามองในแง่มุมสังคมแบบประชาธิปไตยแล้วก็คือสิ่งที่ขัดขวางความเจริญอย่างชัดเจน และเป็นรากเหง้าของความแตกต่างกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก

เพราะค่านิยมในเรื่องความเสมอภาคคือผลิตผลของสังคมประชาธิปไตยในตะวันตก เป็นคุณธรรมที่ถ่วงดุลไม่ให้ค่านิยมในเรื่องความเป็นปัจเจกบุคคลดำเนินไปอย่างสุดโต่ง และเป็นสิ่งพื้นฐานที่ลักดันให้เกิดเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้น

เมื่อสังคมไทยรับระบอบประชาธิปไตยเข้ามา จึงเกิดความขัดแย้งโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่กำจัดค่านิยมที่เกี่ยวกับชนชั้นและความไม่เสมอภาคออกไปจากสำนึกและโครงสร้างในระบบราชการ ดังเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และยกเลิกฐานันดรศักดิ์ ยศชั้น ศักดินาแล้วก็ตาม ความรู้สึกในเรื่องยศชั้นก็ยังคงสิงอยู่ต่อไปในยศชั้นทหารและข้าราชการพลเรือน เช่น นายพัน นายพล หรือชั้นโท ชั้นเอก ชั้นพิเศษ

สิ่งที่ตอกย้ำและกระตุ้นความรู้สึกสำนึกในเรื่องนี้ตลอดเวลาก็คือการมีเครื่องแบบ ที่บ่งบอกถึงความแตกต่างในลักษณะต่ำ-สูง เป็นการตอกย้ำทั้งในเวลาทำงานปกติ และงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี

สำนึกในการมีตัวตนและชนชั้นดังกล่าวนี้ นับวันดูเหมือนเพิ่มพูนขึ้นจนสังเกตได้ชัดเจนในการหาเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแทบทุกครั้งทุกคราว เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งมักนิยมแต่งเครื่องแบบในลักษณะโอ่กันว่าใครเด่นกว่ากันจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสายสะพาย ดูแล้วลานตาดี บางคนที่ไม่มีสายสะพายหรือรู้สึกด้อยกว่าเขา แต่มีดีกรีการศึกษาดีกว่า ก็นำเอาครุยปริญญามาใส่อวด น้อยคนนักที่ไม่แต่งเครื่องแบบ ที่โดดเด่นจนแปลกไปจากคนอื่นก็เห็นจะเป็นพลตรีจำลอง ศรีเมือง ท่านเดียวที่ใส่เสื้อม่อฮ่อมถ่ายรูปหาเสียง

พฤติกรรมเหล่านี้นับเป็นการแสดงออกที่เห็นชัดเจนในสำนึกและค่านิยมที่ตรงข้ามกับการเป็นประชาธิปไตย จนกระทั่งกลายเป็นความมุ่งหมายและต้องการอย่างหนึ่งของผู้สมัครเสียด้วย

ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะมีพฤติกรรมผลพวงตามมาให้เห็นอยู่เนืองๆ นั่นก็คือผู้แทนราษฎรเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหรือบุคคลสำคัญแล้ว มักนิยมนั่งรถที่โอ่อ่า เช่น รถเมอร์เซเดส เบนซ์ หรือรถอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน เป็นสิ่งแสดงฐานะความร่ำรวย มีรถตำรวจนำ มีขบวนผู้ติดตามเป็นพรวน

สิ่งเหล่านี้ทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ความต้องการเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรก็คือต้องการที่จะเข้าไปเป็นนายประชาชน หาใช่เพื่อเสียสละเพื่อส่วนรวม และรับใช้ประชาชนไม่

ดูเหมือนความต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น คือความมุ่งหมายทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมชั้นสุดยอดของผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนมาก  เพราะมีการตั้งเป้าหมายและวางแผนกันมาก่อนการสมัคร  และเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วก็เกิดความขัดแย้งชิงเก้าอี้กันเป็นปกติวิสัย  จนเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกและจ้องหาทางล้มล้างกัน  แทนการทำงานเพื่อรับใช้ส่วนร่วมตามอุดมคติของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ดำรงมาถึง ๕๐ ปีในขณะนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของค่านิยมในเรื่องการมีตัวตนและชนชั้นที่ไม่เสื่อมสลายไปจากอดีตแม้แต่น้อย เป็นการดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโดยแท้ นับเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เปลี่ยนในขณะที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลง เลยทำให้นึกถึงคำพังเพยในอดีต ที่เกิดจากการนินทาและแดกดันสังคมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ว่า “ยศช้างขุนนางพระ” แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นในค่านิยมนี้ที่มีไปถึงช้างและพระด้วย มาบัดนี้การเปลี่ยนแปลงมีแต่เพียงยศช้างหายไป พระยังคงมีอยู่ แต่ว่าสิ่งที่เข้ามาแทนช้างก็คือขุนนางพ่อค้า

จึงใคร่วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างและเหมือนกันของทั้งสองสมัย คือจากยศช้างขุนนางพระ มาเป็นยศพระขุนนางพ่อค้า ดังต่อไปนี้

ยศช้างขุนนางพระ
 
นวกรรมในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครั้งกรุงศรีอยุธยา คือการสร้างระบบศักดินาขึ้นเพื่อการปกครองประเทศและการบริหารราชการให้เป็นผลดี ทั้งนี้เพราะกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นมีอาณาเขตกว้างใหญ่ อันเนื่องมาจากการวมหัวเมืองและรัฐอิสระหลายแห่งมาอยู่ใต้อำนาจ มีประชาชนมากมายหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาเป็นพลเมือง จำเป็นต้องยกระดับขึ้นเป็นราชอาณาจักร และรวมอำนาจมาไว้ที่ศูนย์กลางภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์

สิ่งที่จะทำให้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้ดีนั้น จำเป็นต้องมีบูรณาการทางวัฒนธรรมและการเมืองที่จะทำให้ผู้คนซึ่งมีความแตกต่างกันในทางชาติพันธุ์มีความรู้สึกร่วมกัน กลไกที่ทำให้เกิดสำนึกร่วมกันดังกล่าวนี้ก็คือภาษาและศาสนา

ในด้านภาษานั้น รัฐได้เลือกเอาภาษาไทยเป็นภาษากลางและเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญในราชอาณาจักร ความสำเร็จในเรื่องนี้เห็นได้จากเอกสารของชาวยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ระบุว่า ชาวสยามเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทย

ส่วนในด้านศาสนา รัฐได้ยกพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาหลักของราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์และยกย่องมากกว่าศาสนาใด มีการสร้างวัดราษฎร์และวัดหลวงให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านและเมือง ผลที่ตามมาก็คือผู้คนแม้จะหลากหลายในด้านชาติพันธุ์และความเป็นมา แต่เมื่อมาอยู่รวมกันในดินแดนนี้ก็เป็นชาวพุทธร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกในด้านความจงรักภักดีเชื่อมโยงไปถึงพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองด้วย นั่นคือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์และบำรุงพระศาสนา หากใครมาทำอันตรายหรือคิดร้าย ก็เท่ากับทำลายพระพุทธศาสนา เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ หากมีข้าศึกมาย่ำยี ก็หมายความว่าเป็นการย่ำยีทำลายพระศาสนาเช่นกัน

ทั้งภาษาและศาสนานับเป็นกลไกที่สำคัญในการทำให้เกิดการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ส่งทอดไปถึงการสร้างระบบศักดินาอันมีความหมายในเรื่องบูรณาการทางการเมืองด้วย นั่นก็คือเป็นระบบที่กลั่นกรองและยกระดับผู้คนที่รัฐและพระมหากษัตริย์เห็นว่าจะทำหน้าที่และมีประโยชน์แก่แผ่นดินขึ้นมาเป็นขุนนางและข้าราชการ โดยจัดอันดับสูงต่ำให้ลดหลั่นกันไปตามความสามารถและความดีความชอบที่พระมหากษัตริย์เห็นสมควร
 

แม้ว่าในสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์นั้น  ทุกคนเหมือนกันหมด  อาจได้รับการลงโทษได้เท่าๆ กัน เช่นพระองค์สามารถถอดคนที่เป็นเสนาบดีให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง หรือโปรดฯ ให้ตะพุ่นหญ้าช้างเป็นเสนาบดีได้ในพริบตาเดียวก็ตาม คนส่วนใหญ่ในสังคมก็ยังคงยอมรับพระราชอำนาจนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้โอกาสมีหน้ามีตาและมีความสำคัญได้เท่าเทียมกัน นิยายเรื่องขุนศึกที่เคยฉายอยู่ในทีวีก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่คนที่มีฐานะเป็นทาส หรือไพร่ เช่นไอ้เสมา ก็สามารถก้าวข้ามบันไดสังคมไปเป็นขุนนางศักดินากับเขาได้

ระบบศักดินาไม่ได้หยุดนิ่งอย่างที่มีขึ้นแต่แรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเท่านั้น หากยังได้รับการปรุงแต่งและส่งเสริมเรื่อยมา ดังสังเกตได้จากหลักฐานทางเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายตราสามดวง หรือพระราชพงศาวดารที่เกี่ยวกับเรื่องยศ – ชั้นของขุนนางผู้ใหญ่ กล่าวคือในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นคงมีแต่เพียงออกญาหรือพระยาเป็นที่สุด แต่สมัยหลังลงมาเกิดมีเจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าพระยานั้น น่าจะพัฒนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

นอกจากนี้ ก็ยังมีเครื่องแสดงยศถาบรรดาศักดิ์ เช่น ดาบ กระบี่ พานหมาก เสลี่ยง เรือ เป็นต้น ที่พัฒนามากเห็นจะเป็นตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นสมัยที่มีของจากภายนอกเข้ามามาก และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพอสมควร ยุคนี้เวลาเจ้านายและขุนนางตายก็มีการใส่โกศหรือใส่หีบทองพระราชทาน มีเครื่องประดับยศหรูหราเป็นรูปธรรมขึ้น

พอมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาขุนนางตายมีโอกาสได้เผาศพในเมรุมาศคล้ายๆ กันกับพระมหากษัตริย์ทีเดียว

แต่ที่โดดเด่นทันสมัยและเข้าใจว่าสมบูรณ์ที่สุดนั้น ก็คือสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ที่มีการรับอิทธิพลการแต่งกายมาจากฝรั่ง มีการให้เหรียญตราและสายสะพายขึ้น กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบ เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไปแม้แต่คนที่เป็นสมเด็จเจ้าพระยาก็ยังต้องการ คือในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างพระพุทธเจ้าหลวงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในเรื่องวันฉัตรมงคล เพื่อยุติความขัดแย้ง รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดฯให้สร้างตราจุลจอมเกล้าขึ้นพระราชทานในวันฉัตรมงคล ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ได้รับพระราชทานด้วย ความขัดแย้งจึงหมดไป

แต่สิ่งนี้จะมองในลักษณะที่มอมเมาไม่ได้ เพราะทั้งผู้ให้และผู้รับนั้นอยู่ในระบบคุณธรรมเสมอกัน พระเจ้าแผ่นดินนั้นหาได้อยู่ในฐานะที่จะเห็นใครชอบใครแล้วพระราชทานให้ไม่ แต่ต้องมีกฎเกณฑ์และมีกรอบคุณธรรมที่เรียกอย่างกว้างๆ ว่า “ทศพิธราชธรรม” ควบคุมอยู่

ถ้ามองอย่างเจาะจงแล้ว จะเห็นว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นสุขุมาลชาติ ทรงมีความละเอียดอ่อน  รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ไม่หักหาญกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ในขณะเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โอนอ่อน แลเห็นความหมายของกุศโลบายของตราจุลจอมเกล้าที่มุ่งเชิดชูผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินที่สืบทอดไปถึงลูกหลาน นั่นก็คือการสร้างสำนึกในเรื่องตระกูลวงศ์ขึ้น ตระกูลวงศ์จะดำรงอยู่อย่างได้รับการยกย่องก็ต่อเมื่อบุคคลในตระกูลนั้นมีคุณธรรม มีความซื่อตรงต่อแผ่นดิน

เพราะฉะนั้น ระบบศักดินาจึงไม่ใช่ระบบที่เป็นกลไกในการสร้างบูรณาการทางการเมืองและการปกครองอย่างโดดๆ หากมีความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของระบบคุณธรรมในยุคนั้นสมัยนั้นทีเดียว เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ จากชนทุกชั้นในสังคมจนกลายมาเป็นค่านิยมที่ฝังอยู่ในสำนึกของคนไทยมาช้านาน

คำว่า “ยศช้างขุนนางพระ” นั้นจึงหาได้เป็นคำพังเพยแบบแดกดันแต่เพียงอย่างเดียวไม่  หากมีนัยของระบบคุณธรรมแอบแฝงอยู่ อย่างเช่นคำว่า “ยศช้าง” คือแม้แต่ช้างก็มียศ มีราชทินนาม เช่น เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นต้น ก็เพราะช้างในสมัยนั้นเป็นสัตว์มีคุณ เป็นพาหนะที่ใช้ทำศึกสงคราม เปรียบได้กับรถเกราะหรือรถถังในปัจจุบัน การให้ยศนั้นคือการแสดงออกถึงการให้คุณค่า และที่สำคัญก็คือความกตัญญูรู้คุณช้าง ดูแล้วผิดกับคนสมัยนี้ที่ไม่มีคุณธรรม เอาช้างมาลากซุงทรมาน เอามาเป็นพาหนะรับใช้นักท่องเที่ยวและเอามาแสดงปาหี่ต่างๆ จนเกือบจะสูญพันธุ์อยู่แล้ว

ส่วนเรื่องขุนนางพระนั้น ก็มีความจำเป็นที่พระมหากษัตริย์ต้องเกี่ยวข้องด้วย พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของทางธรรม ไม่นิยมให้พระสงฆ์มาเกี่ยวข้องกับทางโลกโดยไม่จำเป็น พระมหากษัตริย์จึงต้องเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกบำรุงศาสนาและจัดตั้งองค์กรสงฆ์ที่แยกออกจากทางโลกโดยเฉพาะและให้พระสงฆ์ควบคุมกันเองภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์ จึงเกิดตำแหน่งขุนนางพระขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าพระสงฆ์ไม่ประพฤติในทางที่ถูกที่ควรก็จะถูกลงทัณฑ์ได้

ยกตัวอย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้มีการถอดยศและลงทัณฑ์พระเถระที่ประพฤติผิดหลายรูป รวมทั้งได้มีการกำหนดพระสงฆ์ขึ้นควบคุมดูแลด้วย ความชั่วดีและการได้ยศศักดิ์นั้นอยู่ที่พระสงฆ์เอง แต่สำหรับพระสงฆ์ที่เป็นพระจริงๆ แล้ว ท่านก็มักไปติดยึดกับยศถาบรรดาศักดิ์

ดังเช่นท่านพุทธทาส เป็นต้น ทั้งที่โดยฐานะและตำแหน่งท่านคือเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา และมียศเป็นชั้นธรรมแต่ท่านไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้ กลับแยกไปสร้างสวนโมกข์และปฏิบัติธรรมอย่างเป็นเอกเทศ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธและขัดขืนความต้องการของแผ่นดิน ผิดกับพระอีกเป็นจำนวนมาก ในสมัยนี้ ที่ต้องการได้พัดยศ ได้ตำแหน่ง และยุ่งในทางโลกจนเป็นที่ติฉินนินทาของคนทั่วไป

เท่าที่กล่าวเรื่องยศช้างขุนนางพระมานี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความรู้สึกอยากมีตัวตนและชนชั้นที่เป็นค่านิยมของคนไทยทุกวันนี้นั้น เป็นสิ่งที่มีมากับโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมแต่เดิม และตกทอดมาจนทุกวันนี้
 
ยศพระขุนนางพ่อค้า
 
สมัยยศช้างขุนนางพระเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจและความชอบธรรมในการปกครองแผ่นดินมาจากเบื้องบน คือศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นสังคมยังไม่มีขนาดใหญ่โตซับซ้อนดังที่เห็นในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ สยามมีประชากรเพียง ๕ ล้านคน พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เพิ่มเป็น ๗ ล้านคน การดูแลความประพฤติของขุนนางข้าราชการยังทำได้ทั่วถึง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจในการปกครองแผ่นดินมาจากประชาชนที่อยู่เบื้องล่างนั้น แท้จริงก็คือการเปลี่ยนแปลงเพียงที่มาของอำนาจ ไม่เป็นกลุ่มเผด็จการทหารเท่านั้น โครงสร้างและค่านิยมแต่เดิมยังคงดำรงอยู่ สิ่งที่ตามมาและเห็นได้ชัดเพียงอย่างเดียวก็คือการเล่นพรรคเล่นพวกและการคอร์รัปชั่น เพราะอำนาจกระจายไปยังผู้คนต่างๆ มากกว่าแต่เดิม และระบบคุณธรรมที่เคยควบคุมความประพฤติแต่เดิมก็สั่นคลอน

กระนั้นก็ดี ก็ยังแลเห็นว่าใครเป็นใคร เพราะประชาชนน้อยและขุนนางรุ่นเก่ายังมีอยู่มาก เช่นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีประชาชนอยู่ ๑๘ ล้านคน และจอมพล ป. เองก็มีสำนึกเรื่องประชาธิปไตยอยู่มิใช่น้อย

สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา เป็นการเปลี่ยนรุ่นของข้าราชการ พวกที่เคยเป็นขุนนางมาแต่เดิมก็หมดไป เกิดคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางราชการแทน ทำให้เกิดการพัฒนาระบบราชการ มีสถาบันสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิชาศึกษาศาสตร์ และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ จนเกิดแผนพัฒนาขึ้นมาหลายฉบับ

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมานั้น อาจนับเป็นยุคใหม่ของระบบราชการก็ว่าได้ ความเป็นยุคใหม่นี้ที่เห็นชัดเจนก็คือ ระบบคุณธรรมที่เคยมีมาแต่เดิมได้หมดไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ค่านิยมในการมีตัวตนและชนชั้นยังคงดำรงอยู่อย่างสืบเนื่อง แต่เป็นการสืบเนื่องชนิดที่ไม่มีระบบคุณธรรมควบคุมอย่างแต่ก่อน
 
สิ่งโดดเด่นที่ทำให้คนมีหน้ามีตา และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่โตทางราชการที่สำคัญ ก็คือการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามักเป็นการศึกษาเฉพาะด้าน และเน้นในเรื่องเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นสำคัญ เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

ผลที่ตามมาก็คือมีคนรุ่นใหม่จบปริญญาโท-เอก จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ไปโดยทุนส่วนตัว ทุนราชการโดยมูลนิธิต่างๆ ไปจนถึงทุนต่างประเทศ ได้กลับมารับราชการ มีตำแหน่งและความก้าวหน้าทางฐานะอย่างรวดเร็วทำให้คนส่วนใหญ่แลเห็นว่าการศึกษาเป็นหนทางไต่เต้าไปสู่การมีฐานะและมีหน้าตา ครอบครัวเป็นจำนวนมากสนับสนุนให้ลูกหลานเรียนจบไวๆ เพื่อให้ได้ปริญญาตั้งแต่อายุน้อยๆ จะได้มีความก้าวหน้ารวดเร็ว เป็นเหตุให้เกิดโรงเรียนกวดวิชาขึ้นเป็นดอกเห็ด ขาดการควบคุมมาตรฐานการเรียน เรียนกันแบบท่องจำ คิดไม่เป็น เพื่อให้ได้คะแนนดี  ได้เกียรตินิยม มีหน้ามีตา ฯลฯ

คนรุ่นใหม่ นักวิชาการรุ่นใหม่ และข้าราชการรุ่นใหม่เหล่านี้ คือผู้ที่ทิ้งระบบคุณธรรมและความรู้ต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของแผ่นดินที่เคยจรรโลงบ้านเมืองให้อยู่สืบเนื่องมาแต่เดิมเสียสิ้น แต่หาได้ทิ้งค่านิยมแห่งการมีหน้ามีตาและยึดถือในชนชั้นที่มีมาแต่เดิมไม่ ยังคงรับไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเอง เลยกลายเป็นสิ่งที่ทำลายจรรยาของวิชาชีพและจริยธรรมอันดีงามของสังคมไป เกิดการทำงานแบบเอารัดเอาเปรียบ ไม่รอบคอบ และมองอะไรแต่เฉพาะเพื่อตนเองและผลประโยชน์ของกลุ่มตน

โดยเฉพาะเกิดกลุ่มผลประโยชน์มากมาย เพราะวิชาที่เรียนมากเป็นวิชาเฉพาะหรือวิชาที่เน้นเทคโนโลยี ไม่ช่วยยกระดับจิตใจให้กว้างขวางแต่อย่างใด ทำให้สังคมไทยมีความซับซ้อนด้วยกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่มีบทบาทในทางลบมากกว่าทางบวก สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้วัฒนธรรมไทยมีทิศทางไปในเรื่องวัตถุนิยมและปัจเจกบุคคลนิยมอย่างสุดโต่ง

สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้ว่าจะไม่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็เป็นยุคที่มีการเพาะคนรุ่นใหม่ที่สานไม่ติดกับอดีต และในขณะเดียวกันก็สร้างโครงสร้างภายใน เช่น ถนน เขื่อน ชลประทาน เพื่อรองรับการขยายตัวของบ้านเมืองเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งก็ทำให้เกิดผลในสมัยต่อมา เช่นในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร แต่เป็นผลของความเจริญทางเศรษฐกิจเชิงทำลายเพราะป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมดไป เกิดเผด็จการทหารที่ร่วมกับพวกพ่อค้านายทุนสร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดกลุ่มปัญญาชนและขบวนการรักชาติขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นขบวนการที่ต่อต้านเผด็จการและพวกนายทุนโดยตรง

เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ทำให้เกิดการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ในเมือง ซึ่งประกอบด้วยนายทุนเป็นจำนวนมาก กับขบวนการรักชาติที่อยู่ในป่าซึ่งเป็นพวกสังคมนิยม ก็นับว่ายังโชคดีที่บรรดาทรัพยากรหลายๆ แห่งในประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ไม่ถูกทำลาย แต่แล้วก็เป็นไปได้ไม่นานเพราะหลังจากที่มีการประนีประนอมกันในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์แล้ว ขบวนการรักชาติออกจากป่า ก็เกิดการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมเชิงวิบัติก็กลับมามีอำนาจดังเดิม

แต่สิ่งที่กลับร้ายยิ่งกว่าเดิมก็คือการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตและร่ำรวยขึ้นภายหลังจากขบวนการรักชาติดออกจากป่านั้น มีการตัดไม้ทำลายป่าแสวงหาทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดควบคู่ไปกับการค้าของเถื่อน และกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปทั่วทุกท้องถิ่น เกิดระบบเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลโยงใยกันเป็นเครือข่ายจากระดับท้องถิ่นถึงรัฐสภา

สิ่งที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีอำนาจก็คอคำว่า “ประชาธิปไตย” และสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “เปลือกนอกของประชาธิปไตย” นั่นเอง เพราะเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเหล่าเข้ามาเลือกตั้งได้ พวกนายทุนและพ่อค้าที่ไม่มีคุณธรรมก็เข้ามาได้โดยอาศัยช่องว่างของคำว่าประชาธิปไตยและพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ่อค้านายทุนสามารถใช้อิทธิพลทั้งอำนาจและการเงินซื้อเสียงให้ชาวบ้านเลือกตนเข้ามานั่งในสภาได้ และจากสภาก็เข้าสู่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารประเทศเต็มที่ เมื่อนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้อย่างผิวเผิน ก็เป็นเหตุให้อำนาจการปกครองเปลี่ยนมือจากพระมหากษัตริย์ และจากเผด็จการทางทหารมาเป็นเผด็จการพ่อค้าและนายทุนแทน

ปัจจุบัน พวกพ่อค้านายทุนไม่จำเป็นต้องติดสินบนข้าราชการ หรือกราบไหว้ข้าราชการเพื่อให้อำนวยประโยชน์แก่ตนอีกต่อไป เพราะพวกพ่อค้าสามารถเข้ามาเป็นขุนนางและเสนาบดีที่อยู่เหนือหัวบรรดาข้าราชการอยู่แล้ว ฉะนั้น ระบอบราชการที่เคยดำรงอยู่ในการทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนร่วมก็กลายมาเป็นระบบที่ล้าหลัง และเป็นเครื่องมือของพวกพ่อค้านายทุนไป

แต่ที่ร้านที่สุดที่ทำให้พวกพ่อค้านายทุนมีอำนาจยิ่งใหญ่ ก็คือค่านิยมในเรื่องการมีตัวตนและชนชั้นที่ยังดำรงอยู่ เพราะนอกจากทำให้พวกพ่อค้าที่เป็นขุนนางมีหน้ามีตาแล้ว ยังมีอำนาจที่จะแต่งตั้งและช่วยเหลือข้าราชการที่รับใช้ตนให้มีอำนาจมีหน้ามีตาด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นจากการมีเครื่องแบบ มีเครื่องประดับยศศักดิ์ทั้งสิ้น

เมืองไทยจึงเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่เต็มไปด้วยเครื่องแบบและความเหลื่อมล้ำของชนชั้นที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็ว่าได้
 
สรุปและวิเคราะห์

ค่านิยมในเรื่องการมีตัวตนและชนชั้นเป็นสิ่งที่มีมานานแต่สมัยราชอาณาจักรอยุธยา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากระบบศักดินาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยศักดินาหรือในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค่านิยมนี้ไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ หากเป็นส่วนหนึ่งในระบบคุณธรรมที่มีค่านิยมอื่นหรือองค์ประกอบอื่นคอยถ่วงดุลไม่ให้มีลักษณะที่เกินเลยไปจนเป็นผลร้ายต่อสังคม

ดังเช่นการมีหน้ามีตาก็เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับการอับอายขายหน้าเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ผู้ที่อยากเป็นคนเด่นคนดังก็จำเป็นต้องระมัดระวัง มีการตรวจสอบจากเบื้องบนคือพระมหากษัตริย์และขุนนางผู้ใหญ่ ดังเช่นสมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยรัชกาลที่ ๑
 
ทรงนิพนธ์ไว้ในเพลงยาวรบพม่าว่า

 “...สุภาษิตทานกล่าวเป็นราวมา   จะแต่งแต่งเสนาธิบดี
 ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน              จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
 เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี        จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
 เสียยศศักดิ์นคเรศ                   เสียทั้งพระนิเวศวงศา
 เสียทั้งตระกูลนานา                 เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร
 สารพัดจะเสียสิ้นสุด...”
 
นับเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการให้ยศถาบรรดาศักดิ์แก่คนนั้น ถ้าไม่ดีอาจทำให้บ้านเมืองพินาศได้

ส่วนสิ่งที่ควบคุมขึ้นมาจากเบื้องล่างอันดับแรกก็คือตระกูลของผู้ที่ได้รับยศศักดิ์นั่นเอง การเป็นคนที่อยู่ในตระกูลนั้นจะต้องผ่านการอบรมทางด้านศาสนา ศีลธรรม และคุณธรรม อันเป็นสิ่งที่ชอบในสังคมด้วย ถ้าประพฤติไม่ดี ไม่เหมาะสม ตระกูลก็เสียหายขายหน้า นำไปสู่การติฉินนินทาของคนทั่วไปในสังคม

เพราะฉะนั้น การนินทาก็นับเนื่องเป็นกลไกในการควบคุมจากเบื้องล่างอีกระดับหนึ่งเหมือนกัน ดังในวรรณคดีเรื่อง กฤษณาสอนน้องกล่าวว่า

 “...ความดีก็ปรากฏ  กฤติยศฦๅชา
 ความชั่วก็นินทา      ทุรยศยินขจร...”
 
หรือจะกล่าวอย่างย่อๆ ว่า การมีตัวตนมีหน้ามีตาเป็นชนชั้นของคนสมัยก่อนนั้น กว่าจะมีได้ก็ต้องผ่านการอบรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีกลไกต่างๆ ทางคุณธรรมและจริยธรรมคอยดูแลควบคุมไว้นั่นเอง

ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยแบบทางตะวันตก แต่ค่านิยมในเรื่องการมีตัวตน มีหน้ามีตาและชนชั้นนั้นก็มิได้เสื่อมลงไปด้วย กลับดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการดำรงอยู่ในระบบค่านิยมและวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่ไม่มีกลไกทางคุณธรรมรองรับหรือคอยถ่วงดุลอย่างแต่ก่อน

ระบอบประชาธิปไตยแบบผิวเผินนี้ได้ทำให้พวกพ่อค้าที่มีโลกทัศน์และแนวคิดเพียงแต่กำไร-ขาดทุนมีโอกาสเข้ามาเป็นขุนนาง เลยทำให้ค่านิยมในเรื่องชนชั้นดังกล่าวยิ่งกลับมาส่งเสริมให้ความมั่งคั่งในเรื่องเงินตราและอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินก็กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป

ข้าราชการที่แต่ก่อนนี้เคยเชื่อว่า “สิบพ่อค้าก็ไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” ก็ต้องมาสยบกับพวกพ่อค้าที่เข้ามาเป็นเสนาบดีเพื่อที่คนจะได้เลื่อนตำแหน่งยศศักดิ์และมีหน้ามีตา
 
ถึงตอนนี้ก็อดไม่ได้ที่จะอัญเชิญพระนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอีกตอนหนึ่งมา
     
                                     “...ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถ
 ครั้นทัพเขากลับยกมา       จะองอาจอาสาก็ไม่มี
  แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ  จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่
       ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี   เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ...ฯ
 
ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ ก็คืออยุธยาดังที่ว่านี้ วัฒนธรรมแบบพ่อค้าได้ทำลายคุณธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นกลไกคอยควบคุมไม่ให้ค่านิยมในเรื่องการมีตัวตน และชนชั้นเป็นไปในทางที่เสียหายให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง คุณธรรมที่ว่านี้คือ “หิริโอตตัปปะ” หรือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นสิ่งที่ทำให้คนแต่ก่อนไม่หน้าด้านเอาแต่ได้ เมื่อมาหมดไปเช่นนี้ความหน้าด้านเอาแต่ได้ก็เข้ามาแทนที่ และเป็นสิ่งส่งเสริมการมีหน้ามีตาของคนในสังคมปัจจุบัน

ที่น่าสลดใจก็คือ แม้แต่ชุมชนทางวิชาการ เช่น ในมหาวิทยาลัย ก็ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มและถูกครอบงำจากผู้บริหารในทบวงที่มีคุณสมบัติเป็นนักธุรกิจ นับเป็นการทำลายความมีหิริโอตตัปปะที่เป็นคุณสมบัติและคูณธรรมของครูบาอาจารย์โดยแท้

ถ้าจะมองให้กระชับลงไปกว่านี้ก็อาจกล่าวได้ว่า การดำรงอยู่ของค่านิยมในเรื่องการมีตัวตน มีหน้ามีตาและชนชั้น ก็คือสิ่งที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับอุดมการณ์ของความเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้ค่านิยมในเรื่องความเสมอภาคและความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างเรียบง่าย เกิดขึ้นในสังคมนี้
......

วิเคราะห์แบบนักประวัติศาสตร์  อ่านแล้ว คิดไงมั่ง :)

Offline •iMferiti•

  • *
  • 1242
  • 9
  • Raven
Quote
ถ้าจะมองให้กระชับลงไปกว่านี้ก็อาจกล่าวได้ว่า การดำรงอยู่ของค่านิยมในเรื่องการมีตัวตน มีหน้ามีตาและชนชั้น ก็คือสิ่งที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับอุดมการณ์ของความเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้ค่านิยมในเรื่องความเสมอภาคและความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างเรียบง่าย เกิดขึ้นในสังคมนี้
ความคิดส่วนตัวกระผ้ม ไม่ว่าในสังคมรูปแบบใด มีค่านิยมแนวไหน การดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายระหว่างมนุษย์คงไม่เกิดขึ้นหรอก
เพราะจากอดีต สัตว์ทุกชนิดก็พัฒนาจากความเรียบง่ายเข้าสู่ความซับซ้อนอยู่ทุกสิ่งเสมอมา
เพราะมันเป็นความเชื่อที่ฝังลึก ว่าการพัฒนาจะนำมาซึ่งชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น และเราต่างก็เฝ้าพัฒนากันตลอด
ผมว่ามันคงไม่มีจุดสมดุลย์ของสังคมที่กำลังก้าวไปข้างหน้าหรอก เช่นเดียวกับความสมดุลย์นั่นแล
มันมีแต่เราจะหาทางยืนให้มั่นคงในโลกที่เอียงไปมาตลอดเวลาได้อย่างไรเท่านั้นเอง

 :-* เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่าช่องว่างของประชาธิปไตยถูกนักเลงการเมืองครอบงำไว้
และมันจึงเหมือนเป็นวงแหวนที่ประเทศไทยไม่มีทางหลุดออก
เพราะแม้นจะมีคนสุจริตหลุดเข้าไปในการเลือกตั้งซักคนสองคน
คนนั้นก็จะถูกสังคมนักการเมืองกีดกันและหล่อหลอม จนผู้ปกครองล้วนหลอมเป็นประเภทเดียวกัน
และมันก็เป็นบ่วงที่ยากหลุด เหมือนกับถ่ายพยาธิทีละคน คนไหนสะอาดเดี๋ยวก็ติดพยาธิจนได้
ถ่ายพยาธิเขาต้องถ่ายพร้อมกันทั้งบ้าน กำจัดนักการเมืองสกปรกก็ควรจะทำเช่นถ่ายพยาธิเช่นกันแล

ห่วงแหของการแย่งชิงพัดยศนี่ยิ่งน่ากลัว แต่ก็ไม่กล้าพูดถึงเท่าไหร่  :P
เห็นบางที่ได้พัดยศทีจัดฉลองหมดเงินวัดมหาศาลเลยทีเดียว

ส่วนเรื่องการศึกษา แน่นอนว่ามันไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้เลย
ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของกวดวิชาที่ชี้ว่าคนเราอยากเร่งออกมาทำงานจนเกินตัว
แต่มันบ่งชี้ว่าตัวผู้ศึกษาไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเลือกความรู้ที่ต้องการได้รับด้วยตัวเองมากกว่า
กลายเป็นถูกแรงคาดหวังจากครอบครัว จากสังคม เร่งให้ทำตามความต้องการของสังคม
การจะกะเทาะเอาเปลือกของการนิยมยศถาบรรดาศักดิ์ออกไปให้สิ้น
ก็ควรจะปรับทัศนคติของสังคมเกี่ยวกับความต้องการผู้จบการศึกษารูปแบบใดมากกว่า
เพราะค่านิยมสังคมต่างหาก เป็นคนกำหนดผลลัพท์ทางการศึกษา

 ??? มึน จบ ละกัน  ;D  ;D  ;D

ปล. อ่านแล้วมึนมากครับ+วิเคราะห์แบบนักประวัติศาสตร์ไม่เป็น ขอแถมั่วๆตามความคิดตัวเองละกัน   :'(
ลายเซ็นนี้คอยแสดงอยู่ตามด้านล่างของแต่ละข้อความ รวมถึงข้อความส่วนตัว
ผมสามารถใช้ BBC โค๊ดและสัญลักษณ์แสดงอารมณ์ได้ แต่ขี้เกียจใส่

:-* เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่าช่องว่างของประชาธิปไตยถูกนักเลงการเมืองครอบงำไว้
และมันจึงเหมือนเป็นวงแหวนที่ประเทศไทยไม่มีทางหลุดออก
เพราะแม้นจะมีคนสุจริตหลุดเข้าไปในการเลือกตั้งซักคนสองคน
คนนั้นก็จะถูกสังคมนักการเมืองกีดกันและหล่อหลอม จนผู้ปกครองล้วนหลอมเป็นประเภทเดียวกัน
และมันก็เป็นบ่วงที่ยากหลุด เหมือนกับถ่ายพยาธิทีละคน คนไหนสะอาดเดี๋ยวก็ติดพยาธิจนได้
ถ่ายพยาธิเขาต้องถ่ายพร้อมกันทั้งบ้าน กำจัดนักการเมืองสกปรกก็ควรจะทำเช่นถ่ายพยาธิเช่นกันแล

ชอบตรงนี้อะถูกใจดี

Offline ~FLuOritE~

  • *
  • 604
  • 42
  • uou
:-* เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่าช่องว่างของประชาธิปไตยถูกนักเลงการเมืองครอบงำไว้
และมันจึงเหมือนเป็นวงแหวนที่ประเทศไทยไม่มีทางหลุดออก
เพราะแม้นจะมีคนสุจริตหลุดเข้าไปในการเลือกตั้งซักคนสองคน
คนนั้นก็จะถูกสังคมนักการเมืองกีดกันและหล่อหลอม จนผู้ปกครองล้วนหลอมเป็นประเภทเดียวกัน
และมันก็เป็นบ่วงที่ยากหลุด เหมือนกับถ่ายพยาธิทีละคน คนไหนสะอาดเดี๋ยวก็ติดพยาธิจนได้
ถ่ายพยาธิเขาต้องถ่ายพร้อมกันทั้งบ้าน กำจัดนักการเมืองสกปรกก็ควรจะทำเช่นถ่ายพยาธิเช่นกันแล

ชอบตรงนี้อะถูกใจดี
:-\ แล้วใครจะเป็นคนไปให้ยาถ่าย?  ประชาชน รึ

Offline •iMferiti•

  • *
  • 1242
  • 9
  • Raven
จะสร้างค่านิยมนี้ได้ต้องให้ผมเป็นผู้นำประเทศเท่านั้นครับ ผมมีแนวคิดอยู่แล้ว แต่ยังไม่อยากบอกใครครับ !

 :P พี่กันช่างสรรหามุข  :o หรือพี่กันจะลงเลือกตั้งสมัยหน้าจริงๆ  ;D  ;D  ;D

 :'( ร่วมกันดันให้มีคณะเราเป็นนายก ชาบู ชาบู
ลายเซ็นนี้คอยแสดงอยู่ตามด้านล่างของแต่ละข้อความ รวมถึงข้อความส่วนตัว
ผมสามารถใช้ BBC โค๊ดและสัญลักษณ์แสดงอารมณ์ได้ แต่ขี้เกียจใส่

มาดันพี่กันเป็น นายก อิอิ

Offline :: Arm ::

  • *****
  • 741
  • 56
น่าเศร้าที่เห็นคนดีเข้าไปเล่นการเมืองไม่นานก้อเสียคนกันไปหมด

ถ้าต้องแก้ทั้งระบบจริงๆก็คงยาก มั้ง

เพราะมันไม่เหมือนพยาธิ มันน่าจะ้เหมือนสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่านั้นที่ลงไประดับ DNA แล้วมากกว่า  :-X

อย่างน้อยน่าจะมีอะไรลงโทษพวกไร้สำนึกพวกนี้บ้าง แต่ไม่รู้ว่าอะไร กฎหมายก็คงไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครออกกฎหมายมาล้อมกรอบพวกตัวเอง :'(

ไม่รู้มองในแง่ร้ายไปม้้ย แต่ดูๆอยู่ทุกวัน รุสึกท้อแท้จริงๆ  :P

Offline Baros™ 『バーロス』

  • Baros™
  • *
  • 10623
  • 122
  • Baros™
น่าเศร้าที่เห็นคนดีเข้าไปเล่นการเมืองไม่นานก้อเสียคนกันไปหมด

ถ้าต้องแก้ทั้งระบบจริงๆก็คงยาก มั้ง

เพราะมันไม่เหมือนพยาธิ มันน่าจะ้เหมือนสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่านั้นที่ลงไประดับ DNA แล้วมากกว่า  :-X

อย่างน้อยน่าจะมีอะไรลงโทษพวกไร้สำนึกพวกนี้บ้าง แต่ไม่รู้ว่าอะไร กฎหมายก็คงไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครออกกฎหมายมาล้อมกรอบพวกตัวเอง :'(

ไม่รู้มองในแง่ร้ายไปม้้ย แต่ดูๆอยู่ทุกวัน รุสึกท้อแท้จริงๆ  :P

ต้องรอพวกนี้แก่ตายหมด อาจจะดีขึ้นมานิดหน่อย
A book, tightly shut, is but a block of paper.

Offline Major

  • *****
  • 1402
  • 156
    • Docchula
พวกนี้แก่ตาย ก็ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาจะมีคุณธรรมนะครับ

อย่าลืมว่า ทุกอย่างมันมีการถ่ายทอดกันได้

แบบอย่างที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำไว้ ก็ย่อมถ่ายทอดไปยังลูกหลาน
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

Offline Baros™ 『バーロス』

  • Baros™
  • *
  • 10623
  • 122
  • Baros™
ครับ แต่ผมว่าคนรุ่นใหม่ต้องแข่งขันกันมากขึ้น น่าจะคัดคนได้มากกว่าสมัยก่อน ซึ่งอาศัยบุญเก่าซะส่วนใหญ่

อาจจะไม่เห็นความแตกต่างทันที แต่เชื่อว่าน่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
A book, tightly shut, is but a block of paper.

NoonKuKu

ผมก้อยังมีความหวังอยู่ลึกๆนะครับว่าต่อไป อะไรๆมันก้อต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 
:'( :'( :'(

Offline Baros™ 『バーロス』

  • Baros™
  • *
  • 10623
  • 122
  • Baros™
ผมก้อยังมีความหวังอยู่ลึกๆนะครับว่าต่อไป อะไรๆมันก้อต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  
:'( :'( :'(

นั่นก็อยู่ที่รุ่นของพวกเรา ว่าจะทำให้มันดีขึ้นได้รึเปล่า
A book, tightly shut, is but a block of paper.

สิ่งที่เป็นรูปแบบทางรูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ในขณะที่สิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหยุดนิ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากและช้า ความล่าช้าดังกล่าวนี้อาจเป็นสาเหตุให้สังคมที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ล้าหลังทางวัฒนธรรม” ก็ว่าได้

ในโลกปัจจุบัน บรรดาประเทศโลกที่สามซึ่งแต่ก่อนนี้เรียกกันว่าประเทศด้อยพัฒนาบ้าง หรือกำลังพัฒนาบ้างนั้น นับเป็นกลุ่มประเทศที่ประสบกับภาวะการล้าหลังทางวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากไม่อาจปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางจิตใจให้เข้ากับความเจริญทางวัตถุที่ได้อิทธิพลมาจากภายนอกได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่า ประเทศโลกที่สามจำนวนมากเหล่านั้นเป็นสังคมแบบประเพณีที่มีความเจริญเป็นอาณาจักรและมีอารยธรรมมาช้านาน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยประเทศหนึ่ง

สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของความคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “ค่านิยม” อันเป็นสิ่งที่คนในสังคมคิดและมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มักเป็นสิ่งที่เกิดจากการสังสรรค์และการถ่ายทอดกันมาช้านานของผู้คนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมาก โดยเฉพาะในสังคมแบบประเพณีที่มีความเก่าแก่ เคยมีอารยธรรมมานั้น ดูจะยากกว่าสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มากทีเดียว

ความขัดแย้งเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าประเทศที่เคยมีอารยธรรมเก่าแก่เช่นประเทศไทย อาจนับเป็นประเทศโลกที่สามกับเขาได้

ตรงนี้ไม่ถูกนะครับ

ไทยเพิ่งมีอายุ 1000 ปีเอง เป็นวัฒนธรรมใหม่ครับ
ในแถบเอเขียตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ก็มีอายุมากกว่า1000ปีแล้วครับ
ถ้าประเทศใหม่ๆ แบบอิสราเอล เค้าเพิ่งก่อตั้งประเทศก็จริง แต่วัฒนธรรมของเค้ามีมานานมากนะครับ ตั้งแต่ก่อนมีคัมภีร์ไบเบิลเลยทีเดียว
ดังนั้นวัฒนธรรมไทยล้าหลัง เป็นเรื่องธรรมชาติครับ ! ..แค่ไม่ถูกลบไปจากประวัติศาสตร์โลกก็บุญแล้ว ต้องขอบคุณบรรพชนของเรา

ประเด็นคือ การสร้างค่านิยมการสามัคคี เห็นใจกัน และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
การขาดคุณธรรมดังกล่าวนี้ทำให้เราด้อยพัฒนาครับ  ประเทศที่เจริญทางวัตถุนั้นเพราะเขามีคุณธรรมเหล่านี้แน่นปึ้ก จนเรียกได้ว่าชาตินิยมเลยครับ
เช่น
อเมริกา (กุดีที่สุด กุจาเปนตำรวจโลก)  
ญี่ปุ่น (กุเก่งที่สุด กุต้องครองโลก กุเข้าสงครามเพียงเพราะถูกบังคับว่ะ)
จีน (กุลอกแบบสินค้าชาวบ้านเค้าไปทั่ว แต่ไม่ให้ใตรลอกแบบสินค้าของกุ)

ถ้าอยากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องเป็นชาตินิยมด้วยการสร้างค่านิยมการสามัคคี เห็นใจกัน และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
ที่สำคัญคือ มันจะทำให้เราซื่อสัตย์
เนื่องจากสังคมแบบนั้นจะยกย่องคนที่ยอมรับผิดเองและแก้ไขตัวเองครับ
เพราะสังคมแบบนั้นจะอภัยคนที่เคยทำผิด และให้โอกาสคนทำผิดแก้ตัวใหม่ครับ

จะสร้างค่านิยมนี้ได้ต้องให้ผมเป็นผู้นำประเทศเท่านั้นครับ ผมมีแนวคิดอยู่แล้ว แต่ยังไม่อยากบอกใครครับ !


ผมมองต่างไป
พันปีนี่ไม่เบานะครับ  ที่แน่ๆ นานจนมีที่มาที่ไปนานกว่าอเมริกา  หรือบางรัฐในยุโรป  หรือสิงคโปร์แน่ๆ
คือผมคิดว่า ผู้เขียนต้องการเสนอว่า การมีประวัติศาสตร์หรือโครงสร้างทางประวัติศาสตร์เก่าๆบางอย่าง
กลับทำให้การพัฒนาที่อยู่บนกระแสหลักรอบใหม่ของโลกล้าช้า  เมื่อเทียบกับประเทศใหม่ๆ
เช่น
อเมริกา ไม่มีที่มาลากยาวอะไร  ไม่มีโครงสร้างชนชั้นมากเท่าอารยธรรมเก่าๆ ในเอเชียและยุโรป
เริ่มด้วยพื้นฐานที่รู้มาก่อนว่า ปัญหาในการปกครองมันมีประมาณไหน
ก็มีระบบการปกครองที่ลงตัวกว่า ได้ประสิทธิภาพพอสมควร  
หรืออย่างสิงคโปร์  ประเทศอายุสั้นที่สุด ไม่มีอารยธรรมหรือวัฒนธรรมอะไรเลย
(อาหารยังเลียนแบบไทยไปตั้งเยอะ)กลับดูเจริญและมีอัตราการคอรัปชั่นน้อยที่สุด

อิสราเอล อารยธรรมแน่นปึ๊ก  แล้วพวกใกล้ๆกันอย่าง ลุ่มแม่น้ำไทกรีส ยูเฟรตีสละครับ ตอนนี้เป็นไง
อารยธรรมขอมละครับ ตอนนี้เป็นไง  

ฉะนั้น ผมยังค่อนข้างเห็นว่าสิ่งที่ผู้เขียนเสนอมาเป็นไปได้มากที่เดียว

นอกจากนี้เรื่องคุณธรรม  มันวัดแทบจะไม่ได้หรอกครับ ประเทศไหนคุณธรรมดี
ผมว่าเอาแค่ประเทศไหนบังคับใช้กฎหมายได้  ไม่มีใครหรืออะไรอยู่เหนือระบบกฎหมายก็ใช้ได้แล้ว

...และประเด็นสุดท้าย  ความสามัคคีนั้น  ปัจจุบันผมงงในนิยามของมันเสียแล้ว
ว่าถูกพูดขึ้น ด้วยใครและเจตนาอะไร  
เอาตัวอย่างเล็กๆ ถ้าคุณพบว่า มีแพทย์อาวุโส โกงกินกระหน่ำ วางระบบที่เอื้อประโยชน์ตัวเองไปตลอดชั่วโคตร
แถมยังมีการประชาสัมพันธ์ กลายเป็นสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง บิดเบือนข่าวแง่ลบของตนเองได้ เพราะสร้างภาพเก่ง
ถ้าคุณไม่เห็นด้วย ต้องการให้เกิดการรับรู้ในวงการ หรือในสังคม ถึง ข้อมูลอีกด้าน
แต่มีอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายคนมาบอกว่า เออ  เรารู้น่า แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้
ยังไงเสียก็ขอให้สงบๆไว้ อย่าโจมตีอีกฝ่าย เพราะจะทำให้คนภายนอกมองว่า
วงการแพทย์เราแตกสามัคคี  เด๋วเสื่อมศรัทธา จะไม่มีผู้มาใช้บริการ ???

แบบนี้จะสามัคคี(หรือเพราะพริ้งกว่านั้นคือ  สมานฉันท์) ดีไหม 
« Last Edit: March 23, 2010, 05:23:06 pm by doctorpuchong »

Offline [ Radianz ]

  • *
  • 1926
  • 28
  • -อุงกะห์!-
อ่านแล้วเป๊ะๆ ฉึกๆๆ

วัฒนธรรมประเทศไทยถือว่าเป็นวัฒนธรรมเก่านะคะ (ถ้าตามบันทึกก็ประมาณ 1000 ปี แต่มั่นใจว่าจริงๆแล้วมันนานกว่านั้น- -") พวกกระแสตะวันตกที่เข้ามาน่ะ อย่างประชาธิปไตยเงี้ย ถือว่าเพิ่งผ่านมาไม่นานนี้เอง ระยะเวลาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยบ้านเรา มันยังสั้นนัก จะประสบปัญหาอะไรมากมายก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ เพราะตะวันตก ช่วงที่กระแสประชาธิปไตยเริ่มบูม ก็เป็นอะไรคล้ายๆแบบนี้เหมือนกัน

ระบบที่มันยังโยงเป็นเครือข่ายใยแมงมุมตอนนี้ มันอยู่ครบจนทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอีกเช่นเดียวกัน เพราะจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างสองกระแสมันเพิ่งไม่นานนี่เอง คนที่มีชีวิตอยู่ในยุคก่อนบางคนเลยยังอยู่มาได้ และยังมีอิทธิพลมากมาย (มันยังเปลี่ยนไม่น่าจะถึง 2 รุ่นด้วยซ้ำตอนนี้) ซึ่งการปรับกระแสเดิมให้เข้ากันได้ต้องใช้เวลามากกว่านั้นอยู่แล้ว

ก็รอดูต่อไป
คงต้องพยายามช่วยๆกันปรับ ช่วยกันเปลี่ยน ตั้งแต่ระดับเล็กๆ ที่แฝงไว้แบบดูเหมือนไม่มีพิษมีภัย
ไปเรื่อยๆ กันแหละหนา ;D

ป.ล. ว่าด้วยสามัคคี
เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า สามัคคี ในหมู่ใคร เพราะถ้าสามัคคีในหมู่พวกเรา ก็ไม่สามัคคีกับประเทศชาติ? สามัคคีกันในประเทศชาติ ก็ไม่สามัคคีกับมนุษยชาติ?
มันตีอะไรได้หลายมุมมาก เกินกว่าจะใช้เป็นมาตรฐานคุณธรรมแล้ว
คิดการสิ่งใด ขอให้ตั้งมั่น หากไม่เช่นนั้น ภิณฑ์พังวอดวาย วางแผนเล่นเกม ปรีดิ์เปรมสมหมาย จงเร่งผ่อนคลาย ดังที่ตั้งใจ
...มัวแต่ร้อยกรอง ร่ำร้องกลบท สุดท้ายจักอด เล่นดังฝันใฝ่ หนึ่งวรรคงดงาม ปราณามตั้งไว้ เวลานั้นใช้ หลายสิบนาที ;w;

Offline ~FLuOritE~

  • *
  • 604
  • 42
  • uou

ป.ล. ว่าด้วยสามัคคี
เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า สามัคคี ในหมู่ใคร เพราะถ้าสามัคคีในหมู่พวกเรา ก็ไม่สามัคคีกับประเทศชาติ? สามัคคีกันในประเทศชาติ ก็ไม่สามัคคีกับมนุษยชาติ?
มันตีอะไรได้หลายมุมมาก เกินกว่าจะใช้เป็นมาตรฐานคุณธรรมแล้ว

+1