Docchula Community

เมื่อแพทย์ไทยประสบวิกฤติ (ไทยรัฐ 25 ตุลาคม 2551)

Offline 48

  • *****
  • 3324
  • 638
ที่มา - คอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2551

เมื่อแพทย์ไทยประสบวิกฤติ

ถึงแม้ว่าจะไม่อยากเอาเรื่องหนักๆรกสมอง มาทำให้วันพักผ่อนสุดสัปดาห์สบายๆของท่านผู้อ่าน กลายเป็นวันที่ต้องมานั่งขบคิดกับเรื่องเครียดๆ แต่เรื่องความเป็นความตาย เรื่องเจ็บไข้ ได้ป่วยของมนุษย์ มันไม่มีวันหยุดหรือวันพักผ่อนเลยจริงๆ

ท่านผู้อ่านจะเชื่อไหม ถ้าผมบอกว่า ทุกวันนี้คนหาเช้ากินค่ำ หากเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย ต้องไปเข้าคิวตั้งแต่สองทุ่ม เพื่อรอให้แพทย์ตรวจรักษาในเช้าวันรุ่งขึ้น

เรื่องนี้เป็นความจริงที่แสนหดหู่ใจ และได้เกิดขึ้นแล้วในหลายๆโรงพยาบาลต่างจังหวัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆที่เป็นศูนย์การแพทย์

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะแพทย์ไร้ความรับผิดชอบ หรือไม่ใส่ใจที่จะรักษาผู้ป่วยตามจรรยาบรรณ

แต่เพราะบ้านเรากำลังประสบวิกฤติทางการแพทย์อย่างหนัก ทุกปีจะมีแพทย์ลาออกจากราชการ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หลายโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก

ส่วนแพทย์ยังทนอยู่ก็ต้องเผชิญสภาวะขาดกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ๆ ที่ถูกส่งไปประจำตามโรงพยาบาลเล็กๆ ไม่กล้าทำการผ่าตัดแม้แต่ไส้ติ่งอักเสบ เพราะกลัวโดนคนไข้ฟ้องร้องหากเกิดความผิดพลาด

ในโลกของความจริง เราต้องตระหนักว่า แพทย์ไม่ใช่พระเจ้า ที่รักษาได้สารพัดโรค บางโรครักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย บางโรครักษา ก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย

เมื่อเป็นเช่นนั้นแพทย์บางคนจึงตัดปัญหา ด้วยการส่งต่อคนไข้ไปให้ โรงพยาบาลใหญ่ๆที่มีแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ

ในขณะที่แพทย์บางคนที่พอจะมีโอกาสเลือก ก็ทิ้งคนไข้หันไปเป็นแพทย์ ผิวหนัง หรือศัลยกรรมพลาสติก หากินกับคนมีกิเลสที่อยากสวยอยากงาม ทั้งสบายและได้เงินมากกว่า

ทำให้คนไข้ทั่วทุกสารทิศไปกองอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำให้เกิดปัญหาต้องรอคิวแพทย์ รอคิวเตียง จนเกิดการวิ่งเต้นใช้เส้นสาย หรือจ่าย ใต้โต๊ะ ทำให้คนไข้ยากจนที่ควรจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ต้องไปนอนรอจนอาการกำเริบยากที่จะเยียวยา

ในขณะที่แพทย์เองก็ต้องรักษาคนไข้ทั้งวัน จนไม่มีเวลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางศัลยกรรมสมองหรือหัวใจ

ซํ้าร้ายเกิดปัญหาเด็กจบ ม.6 ที่สอบติดแพทย์ หรือนักศึกษาแพทย์ ตามโครงการต่างๆ ยอมสละสิทธิ์ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่อยากเรียนหนัก เพื่อมาเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง สู้ไปเรียนด้านไอที บริหาร หรือวิศวะไม่ได้ สบายใจ ไม่ต้องลุ้น แถมเงินเดือนก็พอๆกัน ด้วยความจริงที่ว่าวันนี้แพทย์จบใหม่ต้อง รับผิดชอบชีวิตคนไข้ วันละ 150-200 คน หรือเดือนละ 4,500-6,000 คน เพื่อ แลกกับเงินเดือนไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท เฉลี่ยชีวิตคนไข้หนึ่งคนมีค่าแค่บาทกว่าๆ

สาเหตุของปัญหาทั้งหมดมาจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลในอดีต ที่ทุ่มงบฯเอาใจคนจน โดยลืมรากฐานสำคัญของนโยบายสาธารณสุข นั่นคือทุกคน ต้องร่วมกันเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนจนไม่ต้องจ่าย แต่คนที่พอมีกำลังต้องช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่จะรวยหรือจนก็จ่ายเท่ากัน ทำให้คนที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้มาแย่งที่คนจน

ทำให้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ขึ้นต้นได้สวย เริ่มมีปัญหาเรื่องงบประมาณและบุคลากร จนมาตรฐานการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐเริ่มลดลง คนที่พอมีเงินก็หนีไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ทั้งๆที่ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อยื้อชีวิตตนเองหรือญาติพี่น้อง

ในที่สุดก็ถึงคำถามว่าแล้วใครกันที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตการณ์ ในระบบสาธารณสุขของบ้านเรา คำตอบก็คือคนที่แอบกว้านซื้อโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ในมือ เพราะรู้ว่าในอนาคตบ้านเราต้องประสบปัญหาจากนโยบายประชานิยม
การหัดคิดใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ แล้วยอมรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตนเอง (ไม่ใช่คอยแต่จะคร่ำครวญ)
เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้าง "ภูมิต้านทานชีวิต" เอาไว้รับมือกับความผิดหวังที่จะเข้ามาในอนาคต
เพื่อที่น้องจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง และสามารถเป็นที่พักพิงให้กับ "น้องรุ่นต่อๆ ไป" ได้

Offline 48

  • *****
  • 3324
  • 638
เนื่องจากคอลัมน์ดังกล่าวเป็น "คอลัมน์" ในหน้าหนังสือพิมพ์

เนื้อความจึงประกอบไปด้วย Fact และ Opinion ของผู้เขียน

จึงขอให้น้องใช้วิจารณญาณ (critical thinking) ในการอ่านด้วยนะครับ
การหัดคิดใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ แล้วยอมรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตนเอง (ไม่ใช่คอยแต่จะคร่ำครวญ)
เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้าง "ภูมิต้านทานชีวิต" เอาไว้รับมือกับความผิดหวังที่จะเข้ามาในอนาคต
เพื่อที่น้องจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง และสามารถเป็นที่พักพิงให้กับ "น้องรุ่นต่อๆ ไป" ได้