มนุษย์เราที่เป็นปุถุชนอยู่นี้ ก็มีความปราถนาในเรื่องต่างๆอยู่มากมาย แต่สรุปแล้วก็ประมาณ 3 อย่าง คือ
1 ต้องการมีฐานะดี มั่นคง
2 ต้องการมีรูปดี สวย หล่อ น่ารัก
3 ต้องการมีปัญญาเฉลียวฉลาด
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์" ซึ่งถ้าพูดถึงมนุษย์ซึ่งแปลว่าผู้มีใจสูงแล้ว ก็คือการกระทำของเรานี่แหละ ส่งผลให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ บ้างก็สวย หล่อ น่ารัก มีสเน่ ใครเห็นก็อยากใกล้ชิด บ้างก็ธรรมดาๆ บ้างก็ขี้เหร่ พิการ ขี้โรค
ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยและมีเหตุผล อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล และปัจจุบันก็จะเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล ดังนั้นปัจจุบันจึงเป็นที่รวม ของเหตุและผล
การปฏิบัติธรรม ท่านให้ศึกษาปัจจุบัน คืออยู่กับปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม ปล่อยวางอดีตที่ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่นำมาศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจตนเองให้บริสุทธิ์ และปล่อยวางอนาคตที่ยังมาไม่ถึงซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังเอาไว้ ดังนั้นปัจจุบันจึงสำคัญที่สุด เพราะเมื่อสร้างเหตุที่ดีในปัจจุบันแล้ว อนาคตก็ย่อมดีแน่นอน
โดยทั่วๆไปผู้ที่จะมีข้อ 123 ดัวกล่าวข้างต้นครบนั้น ก็คือผู้ที่ศึกษาธรรมะจนบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน เพราะเมื่อท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านจะมีความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถึงใจ คือเชื่อสนิทใจว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นเป็นความจริง และเมื่อมีความศรัทธาอย่างถึงใจแล้วก็จะตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของท่าน พระโสดาบันที่เห็นโทษภัยในวัฏสงสาร ก็ภาวนาต่อไปเพื่อให้หมดกิเลส เมื่อหมดกิเลสแล้วก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระโสดาบันที่ยังมีความพอใจในโลกียสุขอยู่ ท่านก็อยู่สบายๆมีศีล5เป็นปกติ ไม่ทำบาปทั้งปวง และมีมนุษย์สมบัติบริบูรณ์ ซึ่งตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็คือนางวิสาขา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าพระโสดาบันนี้จะเป็นฆราวาสก็ได้ เป็นชายหรือหญิงก็ได้
พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีการทำบุญ (บุญ หมายถึง ความสบายใจ สุขใจ สิ่งใดที่ทำแล้วสบายใจ สุขใจ อิ่มเอิบใจเรียกว่าเป็นบุญ) ซึ่งหลักใหญ่ๆมี 3 วิธี อันได้แก่
1. การให้ทาน ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เรามีฐานะดี ฐานะมั่นคง
การให้ทานนั้นหากผู้รับเป็นคนดี มีศีลธรรมสูงมากเท่าใด อานิสงส์ก็ยิ่งมากเท่านั้น และผู้ให้ก็ต้องให้ด้วยเจตนาที่จะช่วยเหลือหรืออนุเคราะห์แก่ผู้รับไม่ใช่ให้ด้วยความโลภว่าจะทำให้เราเกิดความร่ำรวยซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวเสียมากกว่า
ซึ่งถ้าหากให้ด้วยเจตนาที่ดีแล้ว การมีฐานะดี ฐานะมั่นคง ก็ย่อมเป็นไปเองตามเหตุปัจจัย เปรียบเหมือนเราปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง ถ้าเราให้น้ำ ปุ๋ย แสงสว่างพอดีๆแก่ต้นไม้ อนาคต ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโต ออกดอกออกผลเอง คือเป็นไปเองตามเหตุปัจจัย โดยที่เราไม่ต้องไปอธิษฐานว่า ขอให้ต้นไม้เจริญเติบโตออกดอกออกผล ซึ่งอาจทำให้เราร้อนใจไปซะเปล่าด้วย
2. การรักษาศีล เป็นเหตุปัจจัยให้เรามีรูปดี สวย หล่อ น่ารัก
ศีล คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็สำรวมให้เรียบร้อย ซึ่งถ้าจะให้ดียิ่งไปกว่านี้ก็ให้ศีลถึงใจคือรักษาใจให้เรียบร้อยด้วย คือคิดดี ไม่โกรธ การโกรธนี้สำคัญมาก สังเกตุดูคนที่ขี้โกรธ ขี้อารมณ์เสีย ขี้บ่น หรือแม้แต่บ่นในใจ ผิวพรรณมักจะไม่ค่อยดี หรือถ้าเห็นว่าผิวพรรณดีก็เป็นเพราะบุญเก่า เพราะอดีตอาจจะประพฤติกายวาจาใจเรียบร้อย ปัจจุบันจึงรูปดี แต่ถ้าปัจจุบันประพฤติกาย วาจา ใจ ไม่เรียบร้อย อนาคตก็จะรูปไม่ดีแน่นอน อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
ศีล5 ศีล8 ศีล10 ศีล227 ท่านเรียกว่าเป็นอาการของศีล หัวใจของศีลคือการไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
3. การภาวนา เป็นเหตุปัจจัยให้เราเป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาด การภาวนา มี2 อย่างคือ การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา
3.1การทำสมาธินั้นก็มีอยู่หลายวิธีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน แต่สำหรับตัวผู้เขียนเองนี้ชอบวิธีอานาปานสติ
อานาปานสติ หมายถึงการระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกให้ติดต่อกันต่อเนื่องกัน โดยไม่เผลอสติไปคิดถึงสิ่งอื่นซึ่งถ้าทำถูกวิธีก็จะรู้สึกสบายแต่หากทำไม่ถูกวิธีจะรู้สึกอึดอัด และให้พยายามหายใจเข้าลึกๆช้าๆ หายใจออกยาวๆช้าๆเพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงลมหายใจชัดเจน นอกจากนี้การวิจัยทางการแพทย์ก็ยืนยันว่าการค่อยๆหายใจเข้าลึกๆนี้จะทำให้ร่างกายได้รับโอโซนอย่างเต็มที่ ทำให้สมองและสุขภาพดีอีกด้วย
3.2การเจริญปัญญา คือ การพิจารณาขันธ์5 ซึ่งก็คือตัวของเรานี้เอง ว่าเป็นไตรลักษณ์
ขันธ์5 ได้แก่ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไตรลักษณ์หรือลักษณะ3ประการ หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
กาย หมายถึง ร่างกายของเรานี้
เวทนา หมายถึง ความรู้สึก เช่นรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รู้สึกโกรธ รู้สึกเฉยๆ เป็นต้น
สัญญา หมายถึง ความจำ เช่น ความทรงจำในเรื่องต่างๆของเราในอดีต เป็นต้น
สังขาร หมายถึง ความนึกคิด เช่นนึกอยากจะกิน นึกอยากจะทำนู่นนี่ นึกอยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น
วิญญาณ หมายถึง การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส กายได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ใจได้รับรู้อารมณ์ต่างๆ เป็นต้น
อนิจจัง หมายถึง ความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ต้องเปลี่ยนแปลง
ทุกขัง หมายถึง ความคงสภาพไม่ได้
อนัตตา หมายถึง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่มีตัวตน
การเจริญปัญญานี้เป็นวิถีทางให้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน คือมีดวงตาเห็นธรรม เห็นพระนิพพาน ละสังโยชน์ขั้นต่ำ3อย่างได้คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส
สรุปแล้วเมื่อเราหวังผลอะไรก็ให้สร้างเหตุปัจจัยให้พร้อม
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขออนุโมทนากับผู้ที่ได้อ่านและนำมาปฏิบัติ อันจะทำให้ตนเองนั้นมีความเจริญงอกงามยิ่งๆขึ้นไป และขอแนะนำหนังสือดีดีสักหนึ่งเล่มเพื่อความสุขของท่านผู้ที่ได้ไปหามาลองอ่าน ชื่อหนังสือ "อานาปานสติ: วิถีแห่งความสุข" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก วัดสุนันทวนาราม