1. ความเป็นมาของ CPIRD และ ODOD ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการเจรจากันระหว่างผู้อำนวยการกองฝึกอบรม กระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์กิติ ตยัคคานนท์)
และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาฯ ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์)
เรื่องการผลิตแพทย์เพื่อรับใช้ชาวชนบท โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์จะได้แพทย์ทำงานในชนบทมากขึ้น
จึงได้มีหนังสือจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึงอธิการบดีจุฬาฯ ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ)
ขอความร่วมมือให้จุฬาฯ ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น โดยรับนิสิตเพื่อจะได้กลับไปทำงานในต่างจังหวัด
จุฬาฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว เห็นควรร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตแพทย์ดังกล่าวโดยอาศัยแนวคิด อยู่ 2 ประการ คือ
1.) จะต้องจัดหลักสูตรเน้นหนักทางชนบท และเรียนในชนบทเพื่อแก้ปัญหาในชนบท
ในกรณีนี้การเรียนชั้นคลินิกจำเป็นต้องจัดทำในโรงพยาบาลต่างจังหวัดโดยตลอด
2.) ควรใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา โดยอาศัยแพทย์และบุคลากรอื่นของโรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นผู้สอน
ซึ่งจะเป็นวิธีที่มีความสิ้นเปลืองน้อย โดยใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์
กระทรวงสาธารณสุข และจุฬาฯ ได้จัดประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2520
และได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521
จากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมีประธานร่วม ได้แก่ อธิการบดีฯ (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ)
และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์อมร นนทสุต) โดยมีกรรมการจากทั้งสองฝ่ายรวมอยู่ด้วย
คณะกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการพิจารณาแผนงาน โดยเสนอชื่อโครงการว่า “โครงการ ส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท
ของจุฬาฯ และกระทรวงสาธารณสุข” (Medical Education for Students in Rural Area Project-MESRAP)
ได้วางโครงร่างการดำเนินการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกนิสิต
คณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตร คณะอนุกรรมการแลกเปลี่ยนบุคลากร และคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกสถานที่
ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะได้ดำเนินการพิจารณาโครงสร้างและเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย
โดยมีกองฝึกอบรม (สถาบันพระบรมราชชนก ในปัจจุบัน) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯเป็นผู้ประสานงาน
ซึ่งคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเลือกโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เป็นศูนย์การศึกษาภาคคลินิก ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
และได้มีพิธีเปิด “ศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2525
โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
และมีนายแพทย์ชัยสิทธิ์ ธารากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเริ่มจัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย
จัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (the Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor-CPIRD)
เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ โดยใน พ.ศ. 2540 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้ง
สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อรับผิดชอบโครงการดังกล่าว สำนักงานนี้มีฐานะเทียบเท่ากองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้ชื่อย่อว่า “สบพช.” สถานที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาคาร 6 ชั้น 9
โทรศัพท์ 0-2590-1975, 0-2590-1979-80
โทรสาร 0-2590-1975, 0-2590-1980,
E-mail address: ocpird@health.moph.go.th
วัตถุประสงค์ของโครงการ 1.เพิ่มการผลิตแพทย์และให้กระจายแพทย์ไปสู่ชนบทมากยิ่งขึ้น
2.เพิ่มโอกาสแก่นักเรียนในชนบทให้ได้ศึกษาวิชาแพทยศาสตร์
3.พัฒนารูปแบบความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย
4.พัฒนาคุณภาพระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข ของโรงพยาบาลศูนย์และสถาบันสมทบ
เป้าหมาย ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. ผลิตแพทย์ตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ. 2538 – 2549 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ
7 มิถุนายน 2537 โดยมีเป้าหมายรับนักศึกษาแพทย์ในช่วงปีการศึกษา 2538 กับ 2549 จำนวน 3,000 คน
ซึ่งจะได้ผลผลิตแพทย์ ตั้งแต่ปี 2544 ถึง ปี 2555 รวม 3,000 คน
2. ผลิตแพทย์ตามโครงการเร่งรัดการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ. 2547 – 2556
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 15 มิถุนายน 2547 โดยมีเป้าหมายรับนักศึกษาแพทย์ ในช่วงปีการศึกษา 2547 – 2556 จำนวน 3,807 คน
ซึ่งจะได้ผลผลิตแพทย์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 ถึงปีพ.ศ. 2562 รวม 3,807 คน
ภาพลักษณ์ของบัณฑิตแพทย์ในโครงการ "เป็นแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กำหนดล่าสุดโดยแพทยสภา และเน้นหนักให้เป็นผู้ที่มีความรู้
ความเข้าใจ มีประสบการณ์และมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานในชนบท พร้อมที่จะให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกแก่ประชาชนทั้งชุมชน”
ลักษณะพิเศษของโครงการ 1. คัดเลือกนักเรียนจากชนบท ให้เรียนในภูมิภาค และให้กลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาเดิม
2. การเรียนการสอน การศึกษาระดับเตรียมแพทย์และปรีคลินิกชั้นปีที่ 1-3 ศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์และ/ หรือคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
การศึกษาระดับคลินิก ชั้นปีที่ 4-6 ศึกษาและฝึกงานที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลเครือข่าย
3. การชดใช้ทุนเมื่อสำเร็จการศึกษา
นักศึกษาแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทเป็นคู่สัญญาของกระทรวงสาธารณสุข (ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2540)
เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องกลับไปปฏิบัติงานที่ภูมิลำเนาเดิม หรือที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี
หากไม่สามารถปฏิบัติได้จะต้องชดใช้เงินให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามที่กำหนด
คุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ในโครงการ 1. มีสัญชาติไทย
2. มีหรือเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเขตรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยตามโครงการ ฯ
3. คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
การคัดเลือกนักศึกษา รับนักเรียนในชนบทเข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์โดยใช้วิธีรับตรงด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันผลิตแพทย์ (โรงเรียนแพทย์)
และโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นที่ตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก
ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่นักเรียนชนบทเข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ วิธีคัดเลือกใช้วิธีสอบวัดความรู้พื้นฐาน
ที่จำเป็นสำหรับการเข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ร่วมกับการสัมภาษณ์ และการสังเกตพฤติกรรม
พื้นที่การรับนักศึกษา กำหนดพื้นที่การรับนักศึกษาและโควตาจังหวัดของแต่ละเครือข่ายการผลิตเพื่อให้เกิดการกระจายโดยใช้ข้อมูลการกระจายแพทย์
ตามระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ โดยมีการพิจารณาปรับปรุงทุก 3 ปี
ที่มาของข้อมูล
-
http://th.wikipedia.org/wiki/ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก_โรงพยาบาลพระปกเกล้า
-
http://newcpird.org/html/cpird1.php