ถ้าเปรียบความรู้เป็นไข่ดาวหนึ่งใบ สิ่งที่ "ต้องรู้" ก่อนจบแพทยศาสตร์บัณฑิต คือไข่แดง นั้นแพทย์สภากำหนดไว้ในเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งความรู้ระดับนั้นทั้งคณะ หรือ รพ.สมทบ ก็สอนให้น้องครบถ้วนอยู่แล้วครับ และมีการสอบประเมินผล (ศรว.) ก่อนจบ ทำให้รับประกันได้ว่า ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนก็มีคุณภาพมากกว่าเท่ากับที่แพทยสภาต้องการแน่นอน
ข้อได้เปรียบของการเรียนใน รพ.แพทย์ ที่เป็นมหาวิทยาลัย คือ
1. ความรู้ลึกๆ ระดับวิจัย หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ เช่น ศูนย์โรคลมชักครบวงจร, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายตับ จะมีแค่ที่นี่ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่น้องจะได้สัมผัสกับความรู้เชิงลึก ฟังบรรยายและเรียนรู้ซักถามจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์หลายท่านเป็นแนวหน้าของประเทศในเรื่องนั้นๆ
2. โรคที่ยากและซับซ้อน (rare disease) ซึ่งมักไม่ค่อยได้เห็นที่รพ.ข้างนอก อัตราการเจอ 1 ต่อหมื่น หรือ 1 ต่อแสน น้องจะได้เจอที่นี่ เพราะ รพ.รอบนอกจะส่งต่อ (refer) ผู้ป่วยมาเพื่อรักษาต่อ
ส่วนการเรียนที่ รพ.สมทบ นั้นมีข้อได้เปรียบ คือ
ทุกรพ.สมทบของจุฬาฯ นั้นเป็น รพ.ศูนย์ขนาดใหญ่ (เป็น รพ.ที่รับการส่งต่อ(refer) ผู้ป่วยจากจังหวัดรอบข้าง >5 จังหวัด) และ
มีผู้ป่วยจำนวนมาก และ โรคที่หลากหลาย และ common และ
นิสิตที่ปฏิบัติงานมีเพียง 15 คนต่อวอร์ด (ที่คณะ 50 คนต่อวอร์ด)
ทำให้
ได้รับผู้ป่วยไว้มาก เฉลี่ย 5-15 เคส/นิสิต
รวมถึง
ได้ทำหัตถการมากกว่า เช่น ทำคลอด ที่ รพ.ชลบุรี ปี 4 ได้ทำคลอดประมาณ 5-8 เคส (ในคณะอยู่ที่ 1-2 เคส)
ส่วนเรื่องเนื้อหานั้น จริงๆ เนื้อหาทางคลินิก มีมากซะเหลือเกินกว่าจะเรียนรู้หมดจากการฟังบรรยาย หลายครั้ง(และเป็นส่วนมาก)ต้องอาศัยการศึกษาด้วยตนเอง จาก ตำราทั้งไทยและอังกฤษ, อินเตอร์เน็ต และสื่อออนไลน์ที่ทางหอสมุดคณะสมัครสมาชิกไว้
โดยสรุป
1. เนื้อหาที่ "ต้องรู้" พี่ว่าไม่ต่างกัน
2. คณะได้เปรียบเรื่อง วิชาการ แน่นๆ ลึกๆ เพราะ ผู้ทรงคุณวุฒิเก่งๆ จำนวนมากอยู่ที่นี่
3. รพ.สมทบ ได้เปรียบเรื่องหัตถการ, การดูแลผู้ป่วย เพราะ คนน้อยกว่า
4. ความต่างอื่นๆ คงเป็น เรื่องการใช้ทุน
5. ไม่เกี่ยวว่าเรียนที่ไหนจะเก่งกว่าที่ไหน เพราะ เรียนที่เดียวกันก็ยังเก่งไม่เท่ากัน (ความเก่ง เป็นผลที่เกิดจากพหุปัจจัย)
ไม่มีที่ไหนดีพร้อม แต่ทุกที่สอนให้น้องจบไปเป็นหมอที่ดีได้เหมือนกัน